Moving Motivators Card
คุณอยากจะตัดสินใจอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามันจะทำร้าย motivation ให้คุณหมดไฟรึเปล่า? หรือคุณอยากจะรู้ว่าอะไรที่เป็น motivation ของเพื่อนร่วมงาน? หรือว่าคุณกำลังจะหาเพื่อนร่วมทีมคนใหม่ แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรทำให้เธอมีไฟ?
ถึงเวลาเล่น Moving Motivators กันแล้วล่ะ!
Jurgen Appelo กูรูด้ารการบริหาร ได้คิดค้นเกมส์นี้ขึ้นมาเพื่อทำให้เห็นว่าอะไรที่เป็นแรงกระตุ้นของคนในทีมและการเปลี่ยนแปลงองค์กรนั้นส่งผลต่อ motivation ของคนในองค์กรอย่างไร Moving Motivators นั้นเป็นเกมส์ที่มาจากโมเดลแรงกระตุ้นทั้งสิบของ Jurgen โดยมีรากมาจากงานของ Daniel Pink, Steven Reiss และ Edward Deci
วิธีการเล่น
1.อะไรที่เป็นแรงกระตุ้นของคุณมากที่สุด ลองหยิบพวกมันขึ้นมาเรียงจากขวา(มาก)ไปซ้าย(น้อย)
2.ยกสถานการณ์ในที่ทำงานขึ้นมาหนึ่งอย่าง เลื่อนไพ่ขึ้นถ้าหากมันส่งผลบวกต่อแรงกระตุ้นนั้น เลื่อนลงถ้ามันส่งผลลบ
3.ลองอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับไพ่ออกมา จับตาดูเป็นพิเศษเมื่อไพ่ที่สำคัญกับคุณเลื่อนลงหรือไพ่ที่ไม่สำคัญกับคุณเลื่อนขึ้น
Moving Motivators นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกสำหรับผู้จัดการทีมเพื่อใช้ในการคุยตัวต่อตัว เพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่าอะไรเป็นแรงกระตุ้นของสมาชิกแต่ละคนบ้าง ถึงตอนนี้มันถูกพัฒนาจนสามารถเล่นได้กับทีมทั้งทีมไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
———————————-
**คำอธิบายเพิ่มเติมสำหรับ motivator แต่ละตัว
CHAMPFROGS MOTIVATORS model
1.ความใคร่รู้(Curiosity)
ความใคร่รู้คือความสนุกจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเข้าใจว่าสิ่งต่างๆรอบตัวนั้นทำงานอย่างไร มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่มีความสงสัยใคร่รู้อยู่ในสัญชาตญาณ การคิดค้นและสำรวจสิ่งใหม่ๆนั้นฝังอยู่ใน DNA ของเราทุกคนครับ พนักงานที่มีความใคร่รู้นั้นจะพยายามเรียนรู้เรื่องใหม่ๆตลอดเวลา แม้พวกเขาอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรเลยก็ตาม ความรู้ที่พวกเขาได้คือผลตอบแทนที่ดีที่สุดอยู่แล้ว
2.ความมีเกียรติ(Honor)
องค์กรด้านศาสนาและการทหารนั้นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับความมีเกียรติของตัวเอง ความมีเกียรตินั้นหมายถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันใดสถาบันหนึ่ง และการปรับพฤติกรรมของเราเพื่อให้เข้ากับคุณธรรมที่เป็นแก่นของสถาบันนั้น ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ความเอื้อเฟื้อ ฯลฯ อะไรคือสิ่งที่คุณให้ค่ากับมัน อะไรที่ทำให้คุณยอมที่จะลำบากเพื่อรักษาสิ่งๆนั้นไว้ นั่นแหละ คือความมีเกียรติ
3.การยอมรับ(Acceptance)
เราทุกคนต่างต้องการการยอมรับจากคนอื่นๆ ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม เราต้องการให้คนอื่นๆเห็นค่าในสิ่งที่เราทำ ชื่นชมในสิ่งที่เราเป็น ในองค์กรที่ขาดการยอมรับซึ่งกันและกันนั้นจะทำให้องค์กรนั้นเป็นองค์กรที่แห้งแล้ง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
4.ความเชี่ยวชาญ(Mastery)
ความเชี่ยวชาญนั้นหมายถึงการทำงานที่ท้าทายกับความสามารถของตัวเอง คนหลายคนนั้นอาจจะมีความสุขดีกับการทำงานง่ายๆ และได้เงินเดือนดีๆ แต่หลายคนก็ต้องการความรู้สึกท้าทายในชีวิตการทำงาน เพื่อที่เขาจะได้ขัดเกลาทักษะของตัวเองให้เฉียบคมยิ่งขึ้น
5.อำนาจ(Power)
อำนาจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการที่ต้องทำตัวกร่างหรือไปข่มขู่ผู้อื่น อำนาจในที่นี้หมายถึงการที่เราจะสามารถมีอิทธิพลเพื่อที่จะโน้มน้าวให้คนอื่นๆทำในสิ่งที่เราเห็นว่าดีได้ ยกตัวอย่าง องค์ดาไลลามะ ท่านไม่เคยทำตัวกร่างหรือไปข่มขู่ใคร แต่ท่านสามารถทำให้คนผู้คนนับล้านได้บำเพ็ญตัวเอง นี่แหละ! อำนาจที่แท้จริง
6.มีอิสระ(Freedom)
คนที่มีแรงกระตุ้นที่จะมีอิสระนั้นมักจะไม่ชอบการต้องพึ่งพาคนอื่น เขาต้องการที่จะตัดสินใจที่จะทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครมาบังคับ พวกเขาไม่ต้องการที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จและมักพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว ความคิดที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นน่ะหรอ มันแทบจะไม่เคยอยู่ในหัวของเขาเลย!
7.ความสัมพันธ์(Relatedness)
คนมากมายที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ พวกเขาต้องการครอบครัวหรือเพื่อนที่จะพูดคุยหยอกล้อและมีช่วงเวลาดีๆด้วยกัน แต่เราก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าทุกคนที่เข้าสังคมนั้นจะต้องมีแรงกระตุ้นจากความสัมพันธ์ หลายคนที่พูดคุยจิ๊จ๊ะกับคนนู้นคนนี้ก็เพื่อรักษาฐานะทางสังคมของตัวเองไว้ คนเหล่านั้นน่าจะมีแรงกระตุ้นจากอำนาจ(power)หรือสถานะ(status)มากกว่า สำหรับคนที่มีแรงกระตุ้นจากความสัมพันธ์จริงๆนั้น พวกเขาชอบที่จะเข้าสังคม เพราะเขาไม่ต้องการที่จะอยู่คนเดียวต่างหาก
8.ความแน่นอน(Order)
มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความแน่นอน ความมั่นคง ความชัดเจน ถึงแม้ว่ามันจะยากจะเกิดขึ้นได้ในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว แต่มีคนมากมายที่อยากได้เงินเดือนที่แน่นอน อยากจะรู้ชัดเจนว่าคนอื่นๆคาดหวังว่าเขาต้องทำอะไร อยากจะมีกฏระเบียบที่ชี้ชัดให้ทุกคนปฏิบัติในทางเดียวกัน
9.เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่(Goal)
องค์กรการกุศลต่างๆนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาไม่ได้มีจุดประสงค์ต้องการให้ตัวเองได้กำไรมากที่สุด แต่พวกเขาพวกเขามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คนหลายคนก็เป็นเช่นนั้น พวกเขายินดีที่จะได้เงินน้อยลง ทำงานลำบากมากขึ้น หากงานที่เขาทำนั้นมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่ตัวของเขาเอง
10.สถานะ(Status)
สถานะในทางหนึ่งก็อาจหมายถึงการมีตำแหน่งสูงๆ มีรถประจำตัว มีเลขาหน้าห้อง หรือมีถ้วยรางวัลการันตีมากมาย แต่ในอีกทางหนึ่งสถานะทางสังคมนั้นก็อาจมีได้โดยไม่จำเป็นสิ่งเหล่านี้ มีคนมากมายเข้าไปเช็ค Klout score ทุกๆวัน เพื่อดูว่าสถานะความนิยมใน social network ของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ พวกเขาพยายามจะสร้าง content ในโลกโซเชียลที่มีประโยชน์กับคนอื่นๆ เพื่อให้สถานะความนิยมของเขาสูงขึ้น