ผู้นำไร้อคติ
เวลาที่พูดถึงผู้นำที่ดีหรือหัวหน้าที่ดี หนึ่งในหัวข้อที่เรามักจะพูดถึงคือ
ผู้นำต้องไม่มีอคติ หรือ หัวหน้าต้องไม่มีอคติ
โดยมากแล้วก็มักจะหมายถึงเวลาตัดสินอะไร ก็ให้ตัดสินด้วยความยุติธรรม ไม่ให้ประโยชน์แก่ใครบางคน ไม่ให้โทษแก่ใครบางคน โดยที่เกิดจากความเลือกที่รักมักที่ชัง
ผู้นำเลยมักต้องพยายามทำตัวให้ไม่มีอคติที่สุด พยายามทำตัวให้ยุติธรรมที่สุด เช่น ห่างเหินจากทุกๆคน (เพราะถ้าสนิทกับใครนั่นแปลว่าคุณกำลังอาจจะมีอคติอยู่) อะไรประมาณนี้
แต่จริงๆแล้ว ผู้นำไร้อคติ มันเกิดขึ้นได้จริงๆหรอครับ? ลองดูภาพนี้ดูสิ

หลายคนคงเคยเห็นภาพนี้แล้ว และก็คงมีคนเคยถามคุณแล้วว่า เส้นบนหรือเส้นล่างยาวกว่ากัน แน่นอนว่าครั้งแรกคุณคงตอบผิดว่า เส้นบนยาวกว่าเส้นล่าง แต่ตอนนี้คุณรู้แล้วว่า สมองของคุณเกิดการแปลผลอะไรบางอย่างที่ทำให้คุณมองบนเส้นบนยาวกว่าเส้นล่างทั้งๆที่จริงมันยาวเท่ากัน พอถึงตอนนี้คุณคงตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าทั้งสองเส้น
ยาวเท่ากัน
ถึงแม้ว่าสมองส่วน logic ของคุณจะคิดอย่างนั้นก็ตาม แต่ผมก็เชื่อว่าถึงตอนนี้ ตาคุณก็ยังมองว่า เส้นบนยาวกว่าเส้นล่างอยู่ดี
นี่คืออคติที่เกิดจากทำงานของสมองของเราครับ แม้ว่าคุณรู้เหตุผลดีทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้ยับยั้งไม่ให้อคตินั้นเกิดขึ้นได้
คุณอาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมองของคุณเกี่ยวกับแค่ภาพ สี เท่านั้น แต่ภาวะการตัดสินใจต่างๆอีกหลายอย่างของคุณก็มีอคติแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ด้วย โดยไม่รู้ตัว
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องเงิน ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเดินไปซื้อขนมโตเกียว 5 อัน 20 บ. คุณให้แบ้งค์ 50 ไป ปรากฏว่าแม่ค้าทอนคุณมา 10 บ. คุณคงรู้สึกโมโห แล้วก็คงโวยวายแม่ค้าอย่างมาก เพราะเธอโกงคุณไปตั้งเท่านึง(20บ.) ในขณะที่ถ้าหากคุณถอยบีเอ็มมาคันละ 3 ล้าน คุณจ่ายเขาด้วยการรูดบัตร 3 ล้าน 20 บ. พนักงานขายเดินมาหาคุณบอกว่า ขอโทษเพราะเธอกดเลขพลาดไป คุณก็คงไม่โวยวายอะไรแล้วก็บอกว่า ไม่เป็นไร เพราะแค่ 20 บ.เอง
นี่เป็นอีกอคติหนึ่งที่เกิดจากการทำงานของสมองของเรา สมองของเรามักจะชอบความ relative(สัมพัทธ์) มากกว่า actual(จริงๆ) เพราะฉะนั้นเราจึงโมโหมากเวลาที่เราถูกโกงตั้งเท่านึง แต่ไม่โมโหอะไรเลยกับการถูกโกง 0.0006% ทั้งๆที่จริงมูลค่าเงินมีค่าเท่ากันเป๊ะๆ
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเรื่องเงินเท่านั้นนะครับ ยังเกิดกับที่ๆไม่ควรจะเกิด หรือ ที่ๆควรจะยุติธรรมที่สุด(แน่นอน มากกว่าบริษัทที่คุณอยู่แน่นอน) เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อความยุติธรรมเลยก็ว่าได้ หรือนั่นก็คือศาลนั่นเอง มีงานวิจัยพบว่า หนุ่มหล่อสาวสวย มักจะถูกลงโทษน้อยกว่าคนที่หน้าตาไม่ดี แม้จะมีความผิดแบบเดียวกันก็ตาม
ไม่ได้หมายถึงผู้พิพากษาเป็นพวกลำเอียง ถูกซื้อตัว คล้ายๆกับบางประเทศนะครับ(แน่นอนว่า วิจัยนี้ไม่ได้ทำในไทย) แต่มันเป็นการวิจัยเชิงจิตวิทยาเพื่อพิสูจน์ว่า คนเรามีอคติต่อหน้าตาของคนจริงๆ และแม้จะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ต้องธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมแค่ไหน ก็ยังพ่ายแพ้ต่ออคติในสมองของเขาเองอยู่ดี
แล้วเราจะทำอย่างไร?
สำหรับผม ผมคิดว่าการยอมรับว่าเราเป็นมนุษย์เดินดินกินข้าวแกง และมีอคติเฉกเช่นคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดครับ บางคนดันไปสำเหนียกว่า ฉันใหญ่ ฉันเป็นเจ้านาย ฉันเป็นหัวหน้า ฉันก็จะไม่มีอคติ เท่าที่ผ่านมา ผมคิดว่าคนพวกนี้มักจะมีปัญหาด้านอคติรุนแรงที่สุด (จริงมั้ยล่ะ?)
ต่อมา เราก็คงไม่หยุดแค่ยอมรับว่าเรามีอคติ แล้วก็ทำตัวแบบอคติ แบบ เฮ้ย ก็กูมีอคติไง กูจะให้แบบนี้อ่ะ มีปัญหามั้ย? คนแบบนี้ก่อปัญหาให้เกิดขึ้นพอๆกับคนที่ไม่รับรู้อคติของตัวเองครับ(จริงอีกใช่มั้ยล่ะ?)
แต่เราต้องหาวิธีที่จะทำยังไง ให้มีระบบที่จะรองรับความอคตินั้นให้ได้
ยกตัวอย่าง เช่น การขอความเห็นจากหลายๆด้าน หรือ การใช้หลายๆคนในการตัดสินเรื่องสักเรื่อง เพราะแต่ละคนก็มักจะมีอคติแต่ละอย่างในระดับที่แตกต่างกันอยู่ บางคนชอบคนหล่อมาก บางคนชอบคนหล่อน้อย บางคนโลภมาก บางคนโลภน้อย นอกจากนั้นประสบการณ์ของแต่ละคนต่อเรื่องนั้นก็แตกต่างกัน การใช้หลายๆคนมาเป็นคนช่วยตัดสินใจ ก็จะคล้ายๆการประกอบจิ๊กซอว์ให้ภาพมันสมบูรณ์มากขึ้นจากการต่อจิ๊กซอว์หลายๆตัว
ใน Management 3.0 เอง ก็จะเน้นเรื่องนี้มากครับ ก็คือการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
(Engage People) ถือเป็นหนึ่งในคีย์หลักของ Management 3.0 เลยล่ะ
ถ้าให้ชัดก็เช่น Merit Money ที่เป็นการประเมินที่ชัดมากๆในเรื่องนี้ หรือสำหรับที่ผมเคยทำก็คือการให้พนักงานใหม่ถูกประเมินผ่านงานโดยเพื่อนร่วมงานกันเอง
ลองดูนะครับ